ประวัติด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก
ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จัดตั้งขึ้นโดยกฎกระทรวงการคลัง เมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยกำหนดให้เป็นที่สำหรับการนำของเข้า หรือส่งของออกเฉพาะทางรถไฟเท่านั้น มีที่ทำการด่านฯ อยู่ที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2513 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย ได้ทำความตกลงร่วมมือกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 1 การก่อสร้างได้แล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนสัญจรไปมาค้าขายติดต่อกันเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2516 และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการคมนาคมและการค้าที่ขยายตัว กรมศุลกากรจึงได้สร้างที่ทำการด่านศุลกากรขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2516 และใช้เป็นที่ทำการด่านฯ จนถึงปัจจุบัน โดยกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงการคลัง กำหนดให้ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก เป็นที่ซึ่งนำของเข้าได้ทุกประเภท และส่งของออกได้ทุกประเภท รวมทั้งของที่ขอคืนอากรขาเข้า และของที่มีทัณฑ์บนทุกประเภท
ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียมในทางศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต แก่สินค้านำเข้าและส่งออก ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประมวลรัษฎากร และอัตราภาษีสรรพสามิต ปฏิบัติพิธีการแก่ของที่นำเข้า ส่งออก ซึ่งของต้องอากร ของยกเว้นอากร ของที่ขอคืนอากรขาเข้า และของที่มีทัณฑ์บนทุกประเภท รวมตลอดถึงการปฏิบัติพิธีการตรวจปล่อยสินค้าผ่านแดนที่ขนส่งทางรถไฟจากปาดังเบซาร์ ผ่านสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ไปอำเภอปาเซมัส ประเทศมาเลเซีย หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การป้องกันและปราบปรามการลักลอบหนีศุลกากร การหลีกเลี่ยงอากร การฝ่าฝืนข้อห้ามข้อกำกัดและความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารในทางราชการ ให้คำแนะนำแก่ผู้มาติดต่อสอบถามหรือนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก มีด่านตรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของด่าน คือ
1. ด่านตรวจพรมแดน ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานสุไหงโก-ลก ห่างจากที่ทำการด่านฯ ประมาณ 100 เมตร มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะที่เดินทางผ่านเข้า-ออก ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และเก็บอากรปากระวางสำหรับของติดตัวผู้โดยสารที่มีมูลค่าไม่เกิน 50,000.- บาท ไม่เป็นของต้องห้าม หรือต้องกำกัดตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์การนำเข้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด่านตรวจพรมแดนเปิดเวลา 05.00 น. ปิดเวลา 21.00 น.
2. ด่านตรวจบริเวณสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ห่างจากที่ทำการด่านฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลป้องกันและปราบปรามการลักลอบหนีศุลกากร
